ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ณ ตลาดน้ำมันนิวยอร์ก และราคาน้ำมันดิบ Brent ณ ตลาดลอนดอน เฉลี่ยรายสัปดาห์ เคลื่อนไหวผันผวนตามปัจจัยทางพื้นฐาน และปัจจัยทางจิตวิทยาดังต่อไปนี้
ปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบ
+ ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในช่วงเช้าวันอังคาร ในขณะที่นักลงทุนคาดว่าอุปสงค์เชื้อเพลิงในสหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฤดูร้อนในสหรัฐได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และฤดูร้อนเป็นฤดูที่มีการใช้รถใช้ถนนสูงในสหรัฐ
+ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. โดยระบุว่า ปริมาณสำรองน้ำมันดิบลดลง 4.2 MB สู่ 537.1 MB ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันตามสัญญาในตลาด NYMEX ลดลง 649,000 BBL สู่ 67.62 MB ปริมาณสำรอง Distillates ลดลง 1.3 MB สู่ 15.9 MB ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 2.0 MB สู่ 240.1 MB ทางด้านอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.8 % สู่ 89.7 %
+ เหตุผละงานประท้วงในฝรั่งเศสทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดอัตราการกลั่น และมีรายงานว่า Total ได้ขายน้ำมันดิบ Dated Brent ออกอยากต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการประท้วงอาจจะยืดเยื้อส่งผลต่อการรับน้ำมันดิบเพื่อกลั่น และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Dated Brent อ่อนตัวลงในระยะนี้
+ วารสาร China Oil, Gas & Petrochemicals (OGP) ของสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของจีน ณ สิ้นเดือนเม.ย.ลดลง 3.7% จากเดือนมี.ค. ด้านการผลิตน้ำมันดิบของโรงกลั่นทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สู่ระดับ 10.89 MBD และเพิ่มขึ้นจาก 10.58 MBD ในเดือน มี.ค.
ปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ
- การแข็งค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของตลาดหุ้นกระตุ้นให้นักลงทุนขายทำกำไรสัญญาน้ำมัน
- นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด รวมถึงข่าวที่ว่าแคนาดาเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบ หลังจากที่แหล่งผลิตน้ำมันจากชั้นทรายในเมืองฟอร์ท แมคเมอร์เรย์ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟป่า จนเป็นเหตุให้การผลิตน้ำมันราว 0.9 - 1.0 MBD ในพื้นที่ดังกล่าว ต้องหยุดชะงักลง
- อิรักซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับที่ 2 ของกลุ่มโอเปคเตรียมปรับเพิ่มการส่งออกน้ำมันในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ 3.47 MBD โดยเพิ่มการส่งออกให้กับลูกค้ารายใหม่ปริมาณ 5 MB ต่อเดือน เช่นเดียวกับ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต แอหร่าน และ UAE ที่วางแผนจะปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดโดยเฉพาะกับลูกค้าแถบเอเชีย
- นักวิเคราะห์คาดว่าการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันพฤหัสบดีนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงใดๆ ด้านการผลิต เพราะคาดว่ากลุ่มไม่สามารถตกลงการตรึงการผลิตในระดับที่จะช่วยพยุงราคาได้
- คาดว่าการผลิตน้ำมันในแถบ Alberta ของแคนาดาจะกลับมาปรับพิ่มขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤตไฟไหม้ป่าในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า